News
Corporate News
“สยามคูโบต้า” และ “กรมการข้าว” มอบรางวัล “แปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ฤดูฝน/ 2565”
“สยามคูโบต้า” และ “กรมการข้าว” มอบรางวัลผู้ชนะโครงการประกวด
“แปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ฤดูฝน/ 2565”
ส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบ Smart Farming สู่กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ
“สยามคูโบต้า” และ “กรมการข้าว” ส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบ Smart Farming จัดโครงการประกวด “แปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ฤดูฝน/ 2565” เฟ้นหากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศที่นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมเกษตรมาใช้บริหารจัดการการเพาะปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดมอบรางวัลแก่ผู้ชนะ เดินหน้าขยายผลองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงเครือข่ายสู่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึงการจัดโครงการในครั้งนี้ว่า สยามคูโบต้ามุ่งหวังให้เกษตรกรมีการทำเกษตรที่แม่นยำ ผ่านการใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงโซลูชันต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นถึงศักยภาพที่สามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของภัยธรรมชาติ สร้างรายได้ที่มากขึ้น และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ สยามคูโบต้า จึงได้ร่วมมือกับ กองเมล็ดพันธุ์ข้าว โดย กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการประกวด “แปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ฤดูฝน/ 2565” เพื่อเฟ้นหากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีความเข้มแข็ง เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้สามารถเป็นต้นแบบ Smart Farmer ให้แก่เกษตรกรทั่วไปได้เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้ในการเพาะปลูกข้าวและขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สยามคูโบต้าและร้านค้าผู้แทนจำหน่ายฯ จะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่ของกลุ่ม อาทิ แทรกเตอร์ รถดำนา โดรนการเกษตร รถเกี่ยวนวดข้าว และเครื่องอัดฟาง ตลอดจนจัดอบรมระบบบริหารจัดการฟาร์ม หรือ K-iField Application ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบ Farm & Machinery Management Platform ที่ช่วยเกษตรกรบันทึกข้อมูลสำคัญของแปลงนา มีปฏิทินการเพาะปลูกรายแปลง การจัดการรายได้ในฟาร์ม กลุ่มชุมชนชาวเกษตร และการประเมินสุขภาพพืชเบื้องต้น ทำให้เกิดความแม่นยำ สามารถวางแผนการทำงานได้ครอบคลุมตลอดทั้งฤดูกาล อีกทั้งยังบริหารต้นทุนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด และนำข้อมูลสถิติมาใช้ในการปรับปรุงสำหรับฤดูกาลถัดไปได้ด้วย ซึ่งเกษตรกรจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริสุทธิ์ สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดี มีมาตรฐานไปสู่เกษตรกรอื่นๆ ได้ อันจะนำไปสู่องค์ความรู้ที่ช่วยสร้างรายได้อย่างมั่นคงเชื่อมโยงเกษตรกรทั่วประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย
ด้าน นายณัฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สะดวก แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์สำหรับการบริหารจัดการแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ประชากรวัยแรงงานในภาคการเกษตรลดลง การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งแนวโน้มการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการลดต้นทุน รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ และปลอดภัยทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค และเชื่อมั่นได้ว่าการผนวกเรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกันจะทำให้เกษตรกรมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายกฤษฎิน คำตัน รักษาการผู้อำนวยการกองเมล็ดพันธุ์ข้าว กล่าวถึงการคัดเลือกว่า หลังจากได้กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้ง 29 ศูนย์เรียบร้อยแล้ว ทางคณะกรรมการได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมการเกษตรตลอดฤดูกาลเพาะปลูก และกิจกรรมการประกวดแปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง-ใต้ โดยมีเกณฑ์การประกวด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการดำเนินงานสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ด้านความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารและจัดการ และด้านความมั่นคงและเข็มแข็งของกลุ่ม โดยคณะกรรมการของแต่ละภาคได้คัดเลือก และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะในโครงการประกวดแปลงนวัตกรรมสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ฤดูฝน/ 2565 ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้รับ โดรนการเกษตรรุ่น T20P 1 ลำ มูลค่า 395,000 บาท จำนวน 3 รางวัล
ชนะเลิศระดับภาคเหนือ
ฐิติมนกาญจน์ จันทร์ละมูล ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศรีนคร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย เล่าว่า “จุดแข็งของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศรีนคร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุโขทัย คือ การมองทิศทางของตลาดที่ดีทำให้เราสามารถกำหนดราคาเองได้ รวมถึงเน้นการใช้นวัตกรรม วันนี้วิถีการเกษตรกำลังก้าวผ่านจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก เราจึงได้ก่อตั้ง โรงเรียนธุรกิจชาวนาแบบครบวงจร เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้กลับมาสานต่อการทำนาของพ่อแม่ เปลี่ยนจากการใช้แรงงานมาเป็นผู้บริหารจัดการแปลงที่ใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ดี เน้นลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต”
ชนะเลิศระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สังวาลย์ มะกา ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เล่าว่า “กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ก่อตั้งเมื่อปี 2547 วันนี้เรามีพื้นที่ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 2,109 ไร่ ที่ให้ข้าวหอมมะลิเนื้อนุ่มคุณภาพดี จุดเด่นของกลุ่มคือเราใช้นวัตกรรมในการเพาะปลูก อาทิ เครื่องหยอดเมล็ด ระบบสูบน้ำใต้ดิน อีกทั้งเรายังควบคุมรถเกี่ยวนวดข้าวให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองคุณภาพจากศูนย์ข้าวนครราชสีมา ข้าวของเราได้ราคาดี เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นบัณฑิตที่เติบโตจากรุ่นพ่อแม่ที่เป็นชาวนาในชุมชนเราเอง ทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าและโอกาสในการสร้างรายได้ และพร้อมสานต่ออาชีพนี้ต่อไป”
ชนะเลิศระดับภาคกลางและใต้
สนทยา เนียมขันธ์ ประชาสัมพันธ์กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางแก้ว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี เล่าว่า “จุดเด่นของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางแก้ว เรามีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง ชัดเจน มีความสามัคคี ซื่อสัตย์ ลงมือทำจริง นอกจากนี้ยังช่วยเหลือสังคมทั้งในชุมชนของเราและชุมชนใกล้เคียงด้วย จากแต่เดิมรุ่นพ่อแม่ยังเป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิม จนมาถึงรุ่นเราที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้น กลุ่มเราจึงสามารถได้ผลิตข้าวตามต้องการ รวมถึงการมีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดี และช่วยกันหาวิธีการปลูกที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะรางวัลนี้เป็นผลลัพธ์จากความตั้งใจจริงของพวกเราทุกคน”
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับเงินสำหรับสนับสนุนกลุ่ม มูลค่า 50,000 บาท จำนวน 3 รางวัล
- ภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าววังโมกข์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิจิตร
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านดงน้อย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี
- ภาคกลางและใต้ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.สนามแจง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเงินสำหรับสนับสนุนกลุ่ม มูลค่า 30,000 บาท จำนวน 3 รางวัล
- ภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านหม้อ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านสงเปลือย ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด
- ภาคกลางและใต้ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแหลม ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชย ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลสำหรับสนับสนุนกลุ่ม มูลค่า 10,000 บาท